top of page
DSC00170.jpg

หลวงพ่อทาวัดพะเนียงแตก

ตำบลมาบแค อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ตามประวัติกล่าวเอาไว้ว่า บรรพบุรุษได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นชาวเวียงจันทร์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ราชบุรี

แต่บางกระแสก็กล่าวว่า บรรพบุรุษของท่านมีเชื้อสายเป็นชาวมอญ  

ท่านถือกำเนิดเมื่อปีพ.ศ.๒๓๖๖ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ บิดามารดาได้นำไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์วัดอยู่วัดโพธารามนั่นเอง เพื่อศึกษาเล่าเรียนอักษรขอม และอบรมบ่มนิสัยตามประเพณีไทยแต่โบราณ

DSC00100.jpg

เมื่ออายุได้ ๑๕ ปีตรงกับปีพ.ศ. ๒๓๘๑ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพธารามนั่นเอง โดยมีหลวงพ่อทาน เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น จนกระทั่งมีอายุครบบวชจึงได้อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๖ ที่วัดบ้านฆ้อง (วัดฆ้อง) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

 

วัดบ้านฆ้อง (วัดฆ้อง) ในอดีต เคยเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและพระกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมาก สมัยนั้นหากใครได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียน ณ สำนักแห่งนี้แล้วถือว่าไม่ธรรมดาแม้ลาสิกขาบทออกไปก็จะได้รับการยกย่องเชิดชู เป็นหน้าตาแก่วงศ์ตระกูล ที่มีชื่อเสียงและได้รับการเคารพนับถือจากบุคคลโดยทั่วไป

สำหรับหลวงพ่อทานั้น ภายหลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาขอม จนเป็นที่แตกฉาน เมื่อเห็นสมควรแล้ว จึงได้หันมาศึกษาและฝึกปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน อีกทั้งยังศึกษาทางด้านพุทธาอาคมต่าง ๆ อีกมากมายจนชำนาญและเชี่ยวชาญ จึงกราบลาพระอาจารย์ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ หาสถานที่สงบวิเวกในการปฏิบัติธรรม ฝึกจิตให้เป็นสมาธิเพื่อให้พ้นบ่วงแห่งอาสวะกิเลสทั้งปวง

สถานที่ต่างๆ ที่ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านไปนั้นมีหลายที่ เช่นไปเมืองสระบุรี เพื่อกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ไปเมืองพิษณุโลกเพื่อกราบนมัสการพระพุทธชินราช หลังจากนั้นก็รอนแรมในแถบภาคอีสาน ข้ามไปยังฝั่งเขมร เมื่อกลับเข้ามาแล้วจึงวกไปภาคตะวันตกสู่จังหวัดกาญจนบุรีผ่านไปยังพม่า แวะกราบนมัสการพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง

 

กาลเวลาได้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีที่หลวงพ่อทาได้ธุดงค์จาริกแสวงบุญไปตามสถานที่ต่าง ๆ ใช้ชีวิตอยู่ในป่าดงพงไพร ฝึกฝนสมาธิทางจิตและขัดเกลากิเลสตัณหา ด้วยการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอย่างจริงจัง ในระหว่างนั้นเมื่อท่านได้มีโอกาสพบปะกับพระคณาจารย์ผู้เรืองเวทย์วิทยาคม ก็จะขอฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อขอศึกษาสรรพวิชาต่างๆ อยู่เสมอไม่เคยขาด ทำให้ท่านมีความรู้ความชำนาญในศาสตร์หลายแขนง ยากที่จะหาใครมาเสมอเหมือนโดยง่าย

จนกระทั่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๕๑ ปี หลวงพ่อทาได้ธุดงค์ผ่านมาทางตำบลพะเนียงแตก ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นตำบลมาบแค ซึ่งในตำบลนี้มีวัดเล็กๆ ซึ่งหลวงปู่สุขเป็นผู้สร้าง ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นป่ารกชัฏนอกเมือง เมื่อท่านเห็นว่าเป็นสถานที่วิเวก เหมาะแก่การเจริญภาวนาธรรม ท่านจึงได้ตัดสินใจปักกลดพักแรม และได้ทราบด้วยญาณว่า ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดมาก่อน จึงได้จำวัดอยู่ ณ บริเวณวัดนี้ ซึ่งพอดีที่วัดพะเนียงแตกไม่มีเจ้าอาวาสเนื่องจากหลวงปู่สุขได้มรณภาพมานานแล้ว จึงทำให้วัดแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างกลายสภาพเป็นป่ารกชัฏดังกล่าว ประชาชนเห็นว่าหลวงพ่อทาได้ธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่วัดนี้และมีความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้นิมนต์ให้หลวงพ่อทาอยู่ประจำวัด และให้เป็นเจ้าอาวาสของวัดพะเนียงแตกแทนหลวงปู่สุข เมื่อประมาณพ.ศ.๒๔๓๐

หลวงพ่อทาได้ปกครองวัดพะเนียงแตกมาเป็นเวลานานพอสมควร ท่านจึงเริ่มลงมือสร้างเป็นวัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งพร้อมทั้งสร้างเสนาสนะต่างๆ ขึ้นมามากมายรวมทั้งอุโบสถ ในช่วงระหว่างการสร้างวัดแห่งนี้ท่านยังได้สร้างวัดอื่นๆ ขึ้นมาอีกในคราวเดียวกัน เช่น วัดบางหลวง วัดดอนเตาอิฐ วัดสองห้องเป็นต้น

หลวงพ่อทา แห่งวัดพะเนียงแตกในช่วงนั้นท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นพระนักปฏิบัติเชี่ยวชาญในด้านสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างยิ่งยวด มีพลังจิตแก่กล้าและมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมากทั้งบรรพชิตและฆราวาส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓ ) ทรงทราบถึงเกียรติคุณดังกล่าว จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าอยู่เสมอๆ ด้วยพระองค์ท่านทรงโปรดปรานพระเถระผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก และหลวงพ่อทาก็เป็นพระเถราจารย์องค์หนึ่งที่พระองค์ท่านทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก ดังนั้น พระราชพิธีหลวงต่างๆ ท่านจะรับสั่งให้นิมนต์หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เสมอๆ เช่นพิธีหลวงการพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ด้วย และได้รับถวายพัดเนื่องในพิธีหลวงการพระศพดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๕ ( ร.ศ.๑๑๑) โดยพยานหลักฐานยืนยันก็คือภาพถ่ายของท่านและมีระบุในภาพถ่ายดังกล่าวว่าถ่ายร.ศ.๑๒๗ ตรงกับปีพ.ศ.๒๔๕๑ พัดที่ตั้งอยู่ด้านขวามือของท่านคือ พัดยศ ส่วนพัดทางด้านซ้ายมือคือ พัดที่ได้รับถวายเนื่องในการพระศพ ข้อความที่ระบุในพัดคือ การพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑

กล่าวได้ว่าตลอดชีวิตของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกท่านได้ดำรงชีวิตในสมณะเพศอย่างคุ้มค่ามีความหมายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพากเพียรปฏิบัติให้เกิดผลทุกด้าน นำสิ่งที่ได้ศึกษาและปฏิบัติมาอบรมสั่งสอนศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้ยึดถือปฏิบัติแนวทางอย่างถูกต้องตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาอย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้เมื่อท่านมีอายุมากแล้วก็ยังปฏิบัติศาสนกิจอย่างไม่ขาดตกบกพร่องจนเป็นที่เคารพศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

ปี พ.ศ.๒๔๖๒ (ร.ศ.๑๓๘) ตรงกับปีมะแม หลวงพ่อทาได้ชราภาพมากจึงถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ รวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี พรรษาที่ ๗๖ สิ่งที่หลงเหลือเป็นอนุสรณ์ให้ร่ำลือนึกถึงท่านก็คือเกียรติคุณคุณงามความดี และบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่จะทำให้เราจดจำไว้อย่างไม่มีวันลืมสมดั่งเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ผู้เข้มขลังแห่งจังหวัดนครปฐมตราบชั่วกาลนาน

ข้อวัตรปฏิบัติ หรือปฏิปทาอันทรงเปี่ยมเยี่ยมยอดของหลวงพ่อทาแห่งวัดพะเนียงแตกองค์นี้ในครั้งอดีต เป็นที่รู้จักโด่งดังมากจนเป็นที่กล่าวขวัญชื่นชมของชาวบ้านที่ติดต่อกับจังหวัดนครปฐมเป็นอันมาก ปัจจุบันกาลเวลาได้ล่วงเลยไปทีละน้อยๆ กิตติคุณท่านก็รู้สึกว่ายิ่งจะรุ่งเรืองขึ้น เพราะในสมัยนั้น สภาวะอันปั่นป่วนดิ้นรนของประชาชนทั้งหลาย ย่อมมองหาสิ่งที่ดีมาคอยยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้เกิดมีที่พึ่งในตนเอง ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดเป็นอย่างดีที่สุด อภิญญาฌานที่ไม่เคยเสื่อมคลายของหลวงพ่อทา แห่งวัดพะเนียงแตกก็ยิ่งเป็นศูนย์ดึงดูดจิตใจชาวพุทธให้เดินทางไปกราบไหว้ขอพรจากท่านอยู่อย่างเนืองแน่น

เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนเคยมายืนทบทวนความทรงจำเก่าๆ ก่อนจะเริ่มเขียนประวัติและปฏิปทาของหลวงพ่อ มาวันนี้ผู้เขียนก็มายืนอยู่ ณ จุดๆ เดิม มองไปรอบๆ บริเวณวัดก็เห็นผู้คนเดินทางกันมากราบขอพรจากหลวงพ่อทาหนาตามากขึ้น บ้างก็มีรถเก๋งส่วนตัวและรถบัสขนาดใหญ่หลายๆ คัน ทำให้บรรดาแม่ค้าพ่อค้ามาจับจองหาที่ทำมาหากินทำให้บรรยากาศครึกครื้นไม่เงียบเหงาเหมือนสมัยก่อนๆ โน้น ภายในวัดปรากฏสิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่หลายต่อหลายอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญเปรียบด้วยหัวใจในการเดินทางมาที่วัดพะเนียงแตกแห่งนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ก็คือ แผ่นทองอันเหลืองอร่าม ติดถวายบูชารูปหล่อหลวงพ่อทาภายในมณฑป และพระพุทธปฏิมากรที่ศักดิ์สิทธิ์พระองค์นั้น ย่อมเป็นสักขีพยานความเคารพบูชาที่ไม่เคยเสื่อมคลาย ของพุทธบริษัทอย่างแน่แท้

ประวัติของท่าน

จากประวัติอันยาวนานของหลวงพ่อทาแห่งวัดพะเนียงแตก จ.นครปฐมเท่าที่พอจะสืบทราบนำมาลงเผยแผ่เป็นเกียรติคุณมีดังนี้คือ

หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีความสำคัญต่อชุมชน พระศาสนาและบ้านเมืองพอสมควรในสมัยนั้นซึ่งจะสังเกตได้ด้วยการสืบประวัติของท่าน เล่ากันสืบๆ ต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้ก็ให้พิจารณาดูง่ายๆ ว่าคนรุ่นเก่าในสมัยของท่าน กาลเวลาอันยาวนานแค่ไหนทำไมยังมีผู้คนกล่าวขวัญถึง และยังมีหนังสือพระศาสนาตลอดจนครูอาจารย์ยุคเก่าคอยอ้างอิงให้เป็นช่วงๆ อยู่เสมอๆ นี่แหละพอเป็นหลักฐานว่า หลวงพ่อทา หรือ หลวงพ่อเสือ หรืออีกนามคือ พระครูอุตตรการบดี พระครูโสอุดรหรือ หลวงพ่อวัดพะเนียงแตก ต้องมีความสำคัญในข้อวัตรปฏิบัติ จนเป็นที่ยอมรับยกย่องอย่างมากทีเดียว

 

หากจะนับย้อนยุคนับแต่วันมรณภาพของท่านลงไป ๙๖ ปีคือ พ.ศ.๒๔๖๒ ปีมะแม นั้น ก็หมายความว่า ท่านเกิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ปีกุน พ.ศ.๒๓๖๖

 

หลวงพ่อทามีประวัติกล่าวเอาไว้ว่า บิดามารดาท่านผู้เป็นบรรพบุรุษ ได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ ได้มาตั้งหลักปักฐานในผืนดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ฝ่ายชาวมอญได้ยินเข้าก็ปฏิเสธสวนทันทีว่า.......หลวงพ่อทา เป็นชาวมอญ บิดามารดาของท่านเป็นชาวบ้านหนองเสือ ท่านก็เกิดที่บ้านหนองเสือ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อได้บวชแล้วใครๆ ก็เรียกนามท่านว่า “หลวงพ่อเสือ” จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากคนมอญชัดๆ เมื่อเติบโตขึ้นมา ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทย ภาษาขอม ภาษามอญ จนมีความสามารถรู้ดีในท้องถิ่นนั้นคนหนึ่งทีเดียว 

ฝ่ายชาวนครปฐม สรุปลงด้วยการที่ว่าจะเป็นคนลาว จะเป็นคนมอญ แต่เมื่อมาอยู่วัดพะเนียงแตกก็ต้องเป็นพระไทยและเป็นมิ่งขวัญของชาวนครปฐมอีกด้วย

สมัยเด็กหลวงพ่อทาเป็นคนใจกล้า พูดจริงทำจริง ไม่ผิดแล้วละก็ เป็นหัวชนฝาเลยทีเดียว สติปัญญาก็ดีมีความเฉลียวฉลาดเอามากๆ มีนิสัยเป็นผู้นำน่ายำเกรงยิ่งนัก

ครั้นอายุได้ ๖ ขวบ บิดามารดาก็นำมาฝากเป็นเด็กวัด ที่วัดโพธาราม จ.ราชบุรีทั้งนี้การมาเป็นเด็กวัดก็เพื่อเข้ามาดัดนิสัยเด็กๆ ให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองรู้จักปฏิบัติตนรู้จักการเข้ามาอยู่กับคนหมู่มากเป็นที่ที่จะได้อบรมบ่มนิสัยจากคนบ้านมาเป็นคนวัดที่มีกรอบระเบียบวินัยทั้งยังเรียนรู้ ดู เห็นพระภิกษุ–สามเณรเป็นแบบอย่างต่อเนื่องซึ่งนานวันเข้าจิตใจก็จะบังเกิดความโอนอ่อน มีเหตุผลของความเป็นผู้ใหญ่ได้ในที่สุด

 

บรรพชาศึกษาธรรมะ

 

เมื่อเจริญวัยอันควร บิดามารดาและญาติมิตรได้พร้อมใจกันถวายบุตรชายของท่านให้ท่านเจ้าอาวาสวัดโพธารามจัดการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ ๑๕ ปี คือราวพ.ศ.๒๓๘๑ ปีขาล หลังจากบวชเป็นสามเณรแล้ว สามเณรทาได้อยู่ปรนนิบัติครูอาจารย์ด้วยดีตลอดมา นอกจากนั้นยังได้ศึกษาพระธรรมวินัย เล่าเรียนอักขระธรรมสมัยสืบวิสัยของผู้อยู่ในขอบเขตแห่งศีลธรรมว่า “ อันใดควรปฏิบัติและอันใดควรละเว้น ” อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตนของสามเณรสมัยก่อนนั้น

 

หลวงพ่อเต๋คงทองวัดสามง่ามซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อทาสมัยก่อน เล่าไว้ว่าการเป็นสามเณรสมัยก่อนต้องทำงานหนัก แต่หนักในทางที่ดีคือ... ต้องเรียนรู้จดจำเอาอย่างปฏิปทาของพระสงฆ์ สามเณรต้องขยันออกบิณฑบาตนี่ขาดไม่ได้ เว้นแต่เจ็บป่วย กลับมาต้องตระเตรียมอาหารให้ครูอาจารย์ พระภิกษุ แล้วก็หมู่พวกสามเณร สามเณรต้องผลัดเวรกันทำความสะอาดเช็ดถูกุฏิ ศาลาหอฉันร่วมกับเด็กวัด แม้แต่ลานหลังวัดก็ต้องไปทำความสะอาด เตรียมไม้กระดาษให้พรั่งพร้อม กลางคืนต้องปรนนิบัติครูอาจารย์บีบนวดพระอาจารย์ผู้เฒ่าชรา ส่วนการทำวัตรสวดมนต์นั้นไม่ขาดได้ก็จะดีมาก แม้แต่การซ่อมแซมพื้นกุฏิ ฝาห้อง ประตูหน้าต่าง จะต้องเรียนรู้จนได้เป็นนายช่างฝีมือดี มีฐานะมั่นคงก็ไม่น้อยต้องมีจิตใจ มานะพยายามสูง ส่วนมากจะเป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์ทั้งนั้นแหละ สามเณรทา วัดโพธารามก็เช่นกัน ท่านมีความมานะพยายามสูงมีความจำเป็นเลิศ ประกอบด้วยตัวของท่านมีจิตใจแน่วแน่ ทำจริงพูดจริง ขยันหมั่นเพียร ครูอาจารย์จึงรักใคร่คอยดูแลสั่งสอนด้วยดี ตลอด ๕ ปีในการบรรพชาเป็นสามเณร 

อุปสมบท

 

ต่อมาอายุครบบวช พ.ศ.๒๓๘๖ ท่านเจ้าอาวาสได้ร่วมกับบิดามารดาโยมญาติทั้งหลายพาท่านไปทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดฆ้อง (ปัจจุบันเรียกวัดบ้านฆ้อง) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยมีหลวงพ่อทาน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อทาสมัยยังเป็นพระหนุ่มๆ ท่านศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดถึงบาลีไวยากรณ์มากขึ้น ปรากฏว่ามีความแตกฉานมากและได้ข้อคิดที่ต้องนำมาอบรมสั่งสอนศิษย์ในกาลต่อมาดังนี้คือ

๑. ท่านมีสติเป็นเพื่อน 

๒. ท่านมีขันติเป็นเครื่องป้องกันตัว 

๓. ท่านมีความพากเพียรเป็นพาหนะ 

๔. ท่านมีปัญญาเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิต

๕. ท่านมีวิชาเป็นทุนของผู้นำ 

๖. ท่านมีความดีเป็นเครื่องประดับ 

๗. ท่านมีศัตรู (กิเลสภายใน) เป็นครูสอน

๘. ท่านเป็นผู้ชนะใจของท่านเอง 

(ด้วยเหตุนี้เอง หลวงพ่อทาจึงชนะใจของผู้คนทั้งหลาย) 

หลวงพ่อทา มีความรอบรู้ในด้านคันถธุระศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นครูสอนศิษย์ให้เกิดความรู้ในหลักธรรมจนเป็นที่เลื่องลือ กิตติคุณของท่านได้แผ่ออกไปไกล เช่น เมืองราชบุรี, เมืองเพชรบุรี, เมืองกาญจนบุรี, เมืองนครปฐม รวมไปถึงจังหวัดชัยนาท (ซึ่งสังเกตได้ว่าท่านเป็นเพื่อสหธรรมมิกกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท) รวมไปถึง เป็นที่เคารพศรัทธาของเจ้านายชั้นสูงในกรุงเทพมหานครอีกด้วย

วิปัสสนากรรมฐาน

ณ วัดบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในอดีตเคยเป็นสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน เพราะมีพระผู้รอบรู้ในหลักปฏิบัติถึง ๒ องค์ คือ

๑. ท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้อง ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ผู้ชำนาญในด้านสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน 

๒. พระคณาจารย์ที่มีเชื้อสายรามัญมีวิชาอาคมแก่กล้า จิตใจสงบราบเรียบ คอยอบรมฝึกฝนให้หลวงพ่อทา (สมัยเป็นพระหนุ่ม) โดยเฉพาะเวทมนต์คาถาอาคม ซึ่งเป็นวิชามนต์อันเป็นเอกแห่งยุคนั้น 

ด้วยครูอาจารย์ทั้งสององค์นี้มีความรักใคร่ในศิษย์ คือ หลวงพ่อทา จึงพยายามฝากฝังวิชาต่างๆ ที่ตนเองมี ฝึกให้กับหลวงพ่อทาผู้เป็นศิษย์อย่างเต็มที่และได้พิจารณาแล้วว่า ศิษย์ของท่านคนนี้ไม่ทำให้ท่านต้องผิดหวัง

สำหรับหลวงพ่อทานั้นหลังจากศึกษาในหลักสูตรพระวินัยจนมีความรู้ความสามารถและสมควรแก่เวลาแล้วท่านจึงเริ่มชีวิตในการฝึกปฏิบัติธรรมพระกรรมฐานอันเป็นวิชาธรรมขั้นสุดยอดต่อไป

สำนักปฏิบัติวัดฆ้องแห่งนี้หากนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๓ - ๒๔๐๕ ย้อนลงไปเมื่อ ๑๔๘ ปีที่แล้ว วัดฆ้องเคยเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ถ้าบุตรชายของใครได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียน หากลาสิกขาออกไปก็จะเป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตาแก่วงศ์ตระกูลมีชื่อเสียง มีประชาชนให้ความเคารพนับถือและอาจได้เป็นผู้นำของท้องถิ่นในนั้นด้วย หากบวชเข้ามาแล้วไม่ลาสิกขาออกไปถือดำเนินชีวิตไปในเพศสมณะ ก็จะเป็นครูอาจารย์ผู้ใหญ่เป็นพระเถระผู้กระทำคุณแก่พระศาสนาอย่างกว้างขวาง 

หลวงพ่อทาได้เริ่มฝึกฝนอบรมพระกรรมฐานในช่วงที่พระพุทธศาสนากำลังเฟื่องฟูซึ่งองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) พระองค์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระศาสนาอย่างจริงจัง ทรงวางพื้นฐานปรับปรุงระเบียบวินัยแก่นักบวชและพระองค์ทรงสนับสนุนฟื้นฟูพระสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

บุคคลในยุคก่อนมีจิตใจอันแน่วแน่ มีสัจจะเป็นเยี่ยม ศีลธรรมภายในก็เต็มเปี่ยม มีความเคารพเชื่อฟังในองค์ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่เป็นพิเศษ เมื่อรับคำสั่งแล้วจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

หลวงพ่อทาท่านจึงได้รับประสิทธิ์วิชาต่างๆ ให้อีกหลายอย่างหลายประการ นับว่ามีความสามารถอันเป็นยอดจริงๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้หลวงพ่อทาจึงมีแต่ความเจริญก้าวหน้า ได้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีความมุ่งมั่นดำเนินเจตนารมณ์ของครูอาจารย์และได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ตลอดมา

 

ในหลักธรรมที่หลวงพ่อทานำไปปฏิบัติตนและสั่งสอนแก่ลูกศิษย์พอค้นคว้าหามาเป็นหลักฐานได้มีอยู่ ๘ ประการ คือ

๑. ต้องเคารพในครูอาจารย์ 

๒. ต้องหมั่นฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แล้วปฏิบัติตาม 

๓. ต้องหมั่นไต่ถามสิ่งอันที่ตนสงสัย 

๔. ต้องสำรวมระวังในฐานะผู้ทรงศีล 

๕. ต้องหมั่นนั่งสมาธิเจริญภาวนา ทำใจให้สงบ

๖. ต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมมั่นคงยิ่งขึ้น 

๗. ต้องปรารถนาความเพียรให้เกิดสติ ให้เกิดปัญญา 

๘. ต้องพิจารณาความเกิดและความตายอยู่เสมอๆ

สู่สันโดษ

ตลอดหลายพรรษาที่หลวงพ่อทาได้รับการฝึกอบรมจากท่านเจ้าอธิการวัดฆ้อง และพระอาจารย์ชาวรามัญ ซึ่งพระเถระทั้งสองได้บอกอุบายหลักปฏิบัติและวิชาอาคมอย่างแก่กล้าและมีความถ่องแท้ในหลักประพฤติวิปัสสนาธรรมตลอดถึงการต้องออกไปอยู่ป่าดงนอกท้องถิ่นของตน เองหลวงพ่อทั้งสองเห็นสมควรให้ศิษย์ได้ออกแสวงหาความจริงด้วยการเรียนรู้ตนเองในป่าดงโดยลำพัง

หากจะพูดถึงวิชาแล้ว หลวงพ่อทาได้รับการถ่ายทอดจนนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยมาได้ทุกประการดังนั้น หลวงพ่อทา ซึ่งอยู่ในคราวอายุ ๓๕ ปีเศษๆ ท่านกราบลาพระอาจารย์ทั้งสองตลอดถึงครูอาจารย์พระอุปัชฌายาจารย์ทุกรูป ซึ่งรวมไปถึงพระอาจารย์ที่วัดโพธารามที่เคยอาศัยข้าวก้นบาตรจนเติบใหญ่ เมื่อกราบลาพระอาจารย์แล้วท่านออกแสวงหาวิโมกขธรรมต่อไป โดยจาริกไปตามท้องถิ่นต่างๆ ตามแบบฉบับของพระธุดงค์ยุคโบราณด้วยการถือปฏิบัติดังต่อไปนี้ 

๑. ถือเอาแบบฉบับแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. เป็นผู้มีสติในเพศของนักบวชแห่งพระพุทธศาสนา 

๓. ถือสันโดษ มักน้อย 

๔. อยู่ในกลด อาศัยป่าดงพงไพรเป็นที่อาศัยปฏิบัติธรรม 

๕. ฉันในบาตร ฉันหนเดียวพอประทังชีวิต 

๖. สำรวมระวังศีล มุ่งภาวนาด้วยสติปัญญา

หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ท่านไปทำความเพียรครั้งนั้น ท่านกลางความเงียบสงัดในป่า มีสัตว์ป่ามากมายให้เห็นพอเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายป่าดงพงไพรสมัยก่อนนั้นอุดมสมบูรณ์มากล้วนเป็นสัปปายะทางใจแก่ผู้ปฏิบัติ ทั้งความเงียบ ความร่มรื่นของป่าเป็นเสมือนพลังให้ผู้ปฏิบัติธรรมรุดหน้าไปยิ่งๆ ขึ้น การขัดเกลากิเลสตัณหาออกจากจิตใจนั้นอยู่ที่ผู้ฝึกกระทำ ส่วนธรรมชาติเป็นเครื่องส่งเสริมให้เกิดความแน่วแน่เพ่งเพียรในอารมณ์ มีสติตื่นฟื้นตัวตลอดเวลา สิ่งดี สิ่งเลว มันพรั่งพรูออกมาให้ได้แยกแยะมากมาย ทุกเวลานาทีมีแต่การฝึกปฏิบัติทั้งสิ้น ความหลับหลงของสตินั้นไม่มี 

ป่าดงพงไพรที่หลวงพ่อทาเดินย่ำผ่านไปหลายแห่งที่พอจะค้นหาหลักฐานได้ก็คือ

 

๑. ภาคเหนือหลายแห่ง เพราะหลวงพ่อทามีจิตประสงค์ที่จะต้องไปกราบไหว้พระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก 

๒. ย้อนมาทางภาคอีสาน แล้วเดินธุดงค์ต่อไปยังจุดหมายคือ นครวัต ประเทศเขมรแม้ยามนั้นประเทศเขมรจะอยู่ภายใต้อารักขาของฝรั่งเศส โดยสมเด็จพระนโรดม เมื่อพ.ศ.๒๔๐๖ แล้วก็ตาม การเดินธุดงค์ของท่านก็ยังราบรื่นปลอดภัยกว่ายุคนี้ 

๓. เดินทางมาสู่ภาคกลาง แล้วได้แวะกราบรอยพระพุทธบาทเมืองสระบุรี ซึ่งครูอาจารย์ยุคโบราณจะต้องมีโอกาสเดินทางมากราบไหว้อย่างน้อย ๑ ครั้งในช่วงชีวิต เพราะสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนามากมายโดยเฉพาะประเทศไทย 

๔. แล้วเดินธุดงค์ต่อไปทางเมืองกาญจนบุรี ผ่านออกไปทางประเทศพม่า เดินธุดงค์ผ่านไปหลายแห่งจนมาถึงจุดหมายที่เมืองย่างกุ้ง เข้ากราบพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองประเทศพม่า

 

กิตติศัพท์

หลวงพ่อทาได้ใช้ชีวิตอย่างสงบในป่าดงพงไพรอาศัยแรงศรัทธาของชาวบ้านต่างถิ่นบิณฑบาตอาหารพอประทังชีวิตเพื่อหนทางแห่งความพ้นทุกข์ การปฏิบัติธรรมกรรมฐานของหลวงพ่อทาเป็นที่ประจักษ์ว่าท่านมีพลังจิตอันแก่กล้า และมั่นคงจนได้รับสมญานามว่า “หลวงพ่อทาเป็นพระนักปฏิบัติ มีสมาธิจิตสูงอยู่ในระดับพระธุดงค์ชั้นยอด”

หลังจากกลับมาประเทศไทย หลวงพ่อทาก็รอนแรมมาทางอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ลัดมาทางจังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี และนครปฐมกิตติศัพท์ของหลวงพ่อทาในระยะนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกล่าวขวัญกันมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของการปฏิบัติธรรมด้วยแล้วหลวงพ่อทาเจริญข้อวัตรปฏิบัติอย่างยิ่งยวดไม่บกพร่องตกหาย กิริยาอันสงบเสงี่ยม สำรวมใจ มีธรรมะเป็นเครื่องขัดเกลา เมื่อท่านย่างเท้าก้าวไปถึงแห่งหนตำบลใดจะมีแต่ผู้คนยกย่องสรรเสริญตลอดมาด้วยวัตรปฏิปทาอันบริสุทธิ์งดงามอย่างพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นบุตรแห่งพระตถาคตเจ้า ได้ขจรขจายเข้าไปถึงพระราชวังหลวง

ในประวัติศาสตร์จารึกบันทึกไว้ว่า

 

“หลวงพ่อทาแห่งวัดพะเนียงแตก มีศีลาจารจริยาวัตรอันงดงาม เป็นที่เคารพของประชาชนความดีงามของท่านจึงเป็นที่วางพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงให้ดำรงตำแหน่งอันสำคัญในพระพุทธศาสนาในกาลต่อมา”

นี้เองเป็นผลของผู้ปฏิบัติธรรม องค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระเมตตาให้มนุษย์ทั้งหลายมีธรรมะประจำใจหลวงพ่อทาเป็นพระภิกษุผู้ปฏิบัติตาม จึงปรากฏความงามในจิตใจเช่นนี้ความจริงแห่งอมตะ ...ธรรมะ...เป็นเครื่องขัดเกลาและช่วยให้โลกมีความสะอาดจัดให้โลกมีระเบียบเรียบร้อยจัดให้โลกไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวายหากโลกทั้งสิ้นนี้มีธรรมะ....โลกก็จะมีแต่สันติสุข

หลวงพ่อทาท่านมีหิริความละอายแก่จิตใจไม่ให้กระทำความชั่ว 

หลวงพ่อทาท่านมี โอตตัปปะ เป็นอาการกลัวความชั่วร้าย กลัวความสกปรกลามกจะเกิดขึ้นในจิตใจ 

หลวงพ่อทาท่านมี ขันติ ความอดทนต่อสภาพต่างๆ ทุกข์ก็ดีสุขก็ดี ท่านจะอดทนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันดีงามและความมุ่งหมายอันชอบ

หลวงพ่อทา ท่านมี โสรัจจะ มีความสงบเสงี่ยมเจียมใจ มีอัธยาศัยอันงดงาม มีความปราณีตหมดจดเรียบร้อย 

เพราะธรรมะนี้แหละ ยังชำระจิตใจของมนุษย์ให้งดงาม เปลี่ยนจิตใจคนให้เป็นจิตใจพระและใจพระอริยบุคคลในเวลาต่อมา ธรรมะเหล่านี้เองเป็นองค์ประกอบที่ทำให้หลวงพ่อทาท่านมีสมาธิจิตสูงล้ำ มีความแข็งแกร่ง กล้าหาญ กล้าทำ กล้าปฏิบัติ จึงเป็นพระเถระผู้ที่ยิ่งยอดในยุคนั้น

ในราวพ.ศ.๒๔๑๒ ปีมะเส็งก่อนหลวงพ่อทาคิดจะสร้างวัด ในปีดังกล่าวหลวงพ่อทามีอายุ ๔๖ ปีเศษ ท่านออกเดินธุดงค์อีกวาระหนึ่ง ในการเดินธุดงค์ถือความพอใจและปรารถนาที่จะแสวงหาความสันโดษสงบสุข

ในปีดังกล่าวตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ท่านเข้าไปพบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งกาลต่อมาก็คือบริเวณวัดพะเนียงแตกนั้นเอง แต่ครั้งนั้นบริเวณโดยทั่วไปเป็นป่ารก มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น หลวงพ่อทารู้ด้วยวาระจิตว่าบริเวณดังกล่าวเคยมีความเจริญมาก่อน และเป็นที่อันเป็นมงคลอย่างยิ่ง

เมื่อท่านปักกลดเสร็จ ท่านก็ออกเดินสำรวจดูให้รู้ว่าบริเวณดังกล่าวมีอะไรบ้าง เมื่อเดินไปถึงหมู่ไม้หนาแน่นก็เห็นเป็นสิ่งปรักหักพังเป็นสิ่งก่อสร้างแต่ครั้งโบราณ กาลเวลาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้ความเสื่อมสลายลบร่องรอยความเจริญในอดีตนั้นเสียหลวงพ่อทาเดินสำรวจลึกเข้าไปก็พบกับระฆังใบใหญ่ เป็นระฆังโบราณ มีหนังสือขอมโบราณจารไว้เป็นปริศนาลายแทงว่า 

“ โตงเตงโตงใต้ ใครคิดได้อยู่ใต้โตงเตง ” 

ความปริศนาไม่ยากที่จะตีความ แต่ถ้าใครไม่มีดีอยู่ในตัว ย่อมวิบัติและตายสถานเดียวหลวงพ่อทาเล็งรู้ด้วยญาณสมาบัติว่า “ใต้ระฆังใบใหญ่นี้มีทรัพย์สินเป็นแก้วแหวนเงินทองมากมายมหาศาล ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ได้ฝังเอาไว้และมีอาถรรพณ์อันร้ายแรงอีกด้วย”

เจตนาเจ้าของทรัพย์

การเดินสำรวจของหลวงพ่อทา เดินดูทุกแห่งจนทั่วท่านก็ย้อนกลับมาที่ปักกลดคืนนั้นท่านทำภาวนาตามปกติ ความจริงท่านลืมเรื่องสมบัติที่ฝังไว้ใต้ระฆังโบราณไปแล้วแต่ขณะจิตสงบลงก็บังเกิดความรู้เห็นหรือ “ตาญาณ” ขึ้นไปพบเจ้าของทรัพย์และจำนวนทรัพย์มหาศาลนั้นเมื่อถอนสมาธิออกแล้วท่านก็รำลึกขึ้นว่า “อันทรัพย์ทั้งหมดที่ฝังไว้ใต้พื้นดินนี้เจ้าของทรัพย์ ได้มอบฝากฝังไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้มีอิทธิฤทธิ์ทั้งหลาย ตลอดถึงภูตผีปีศาจเป็นผู้ดูแลรักษาไว้และยังได้อธิษฐานไว้ว่าหากผู้มีบุญมาพบเห็นสมบัติเข้าแล้วขอให้ขุดเอาทรัพย์ทั้งหมดนี้ขึ้นมาทั้งหมด แล้วนำไปสร้างการกุศลอุทิศไว้ในพระศาสนา” 

สำหรับคนที่มีวาสนาแต่พกพาจิตใจไว้ด้วยความโลภ มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ แม้จะตีความลายแทงออกก็ไม่สามารถขุดเอาไปได้ดังนี้ หากมีผู้พบด้วยตีปริศนาลายแทงได้ก็จริง ส่วนในจิตใจพกไว้ซึ่งความโลภความมีจิตอกุศล มีเจตนาไม่บริสุทธิ์จะขุดไปลึกแค่ไหนกว้างขวางอย่างไร ก็ยากจะได้พบกับสมบัติเหล่านั้น ตรงกันข้ามจะต้องพบกับสิ่งอาถรรพณ์ทำให้เจ็บป่วยเสียชีวิตได้

สำหรับหลวงพ่อทา พระผู้เรืองเวทย์และอภิญญาแก่ล้ำเลิศองค์นี้ท่านเป็นพระผู้บริสุทธิ์เป็นกรรมฐานที่หมั่นขัดเกลาตัวตัณหาทั้ง ๓ได้แก่ราคะโทสะโมหะ เพียรมุ่งหวังสร้างความดีมาโดยตลอดนับเป็นสิบๆ พรรษา ดังนั้นความโลภที่จะเอาสมบัติของใครอื่นนั้นตัดปัญหาทิ้งน้ำไปได้เลย หลวงพ่อทาทบทวนสมาธิหลายครั้ง เจตนาเจ้าของทรัพย์ก็มาขอแรงเมตตาจากท่านให้ขุดเอาสมบัติเหล่านี้ขึ้นมาเสียที หลวงพ่อทาพิจารณาแล้ว ท่านรำพึงว่า “........สถานที่แห่งนี้เคยมีความสำคัญมาก่อนเมื่อมีเจตนาให้นำมาสร้างกุศล ก็จะสร้างวัดเสียที่นี่ หากได้สร้างวัดเอาไว้ในพระพุทธศาสนา เจ้าของและวิญญาณเหล่านั้นก็จะได้อาศัยเนื้อนาบุญผืนนี้เป็นที่สุขคติต่อไป...” สิ้นเสียงของหลวงพ่อทาคำว่า “สาธุ” ดังขึ้นระงมไปทั้งป่าแห่งนั้น

รุ่งเช้า ท่านบิณฑบาตกลับมาฉันแล้วจึงลงมือขุดเอาสมบัติใต้พื้นดินเหล่านั้นขุดก็ไม่ลึกลงไปเท่าไรนักเพียงเอาไม้ขัดๆ เขี่ยๆ ก็พบกับสมบัติภายใต้พื้นดินมากมายเอามือล้วงออกมารวบรวมไว้มากพอที่จะทำการสร้างวัดได้บรรดาแก้วเพชรเงินทองต่างๆ ถูกมากองรวมไว้ ใส่ย่ามปิดไว้อย่างมิดชิด ส่วนสถานที่อันเป็นมงคลนั้นหลวงพ่อทาได้เห็นเปลวไฟพะเนียงแตกพุ่งขึ้นไปบนอากาศอยู่เสมอ โบราณท่านเรียกว่า “ทองลุก” “ผีเลื่อนสมบัติ” เมื่อหลวงพ่อทา ท่านทำการก่อสร้างวัดสำเร็จตามความปรารถนาของเจ้าของทรัพย์สมบัตินั้นแล้วท่านได้ถือเอานิมิตบริเวณเก่าแก่แห่งนี้ ไฟอันเกิดจากเปลวพะเนียงแตก หรือทองลุกนั้นเป็นชื่อวัดในพระพุทธศาสนาขึ้นคือ วัดพะเนียงแตก มาตราบเท่าทุกวันนี้

หลวงพ่อเสือ หรือหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกทำการสร้างเสร็จเรียบร้อยไปแล้วแต่ทรัพย์สมบัติที่ขุดขึ้นมาจากใต้ระฆังโบราณนั้นก็ยังเหลืออีกมากหลวงพ่อทาครุ่นคิดว่า เจ้าของทรัพย์มีเจตนาสร้างกุศล เงินทองที่ใช้สร้างวัดก็ยังเหลืออยู่อีกมากสมควรที่จะสร้างวัดเพิ่มบุญให้เจ้าของวิญญาณเหล่านั้นตลอดถึงเทพเทวาที่มาร่วมอนุโมทนาอีกด้วยหลวงพ่อทาคิดดังนั้นแล้วได้นำเอาทรัพย์สมบัติที่ขุดขึ้นมาได้ทั้งหมดไปสร้างวัดอีก ๓ แห่งคือ

๑. วัดบางหลวง 

๒. วัดดอนเตาอิฐ 

๓. วัดสองห้อง 

รวมแล้วด้วยความสามารถปฏิปทาหลวงพ่อทาแห่งวัดพะเนียงแตกจึงทำให้วัดทั้ง ๔ แห่งเจริญรุ่งเรืองมากในยุคนั้นอย่างไรก็ดี การหาไม้มาสร้างวัดนั้น หลวงพ่อทาได้แรงจากชาวบ้านที่มีความเคารพนับถือในตัวท่าน ได้แสวงหาไม้งามๆ เดินทางไปถึงจังหวัดกาญจนบุรีท่านได้มาสร้างพระอุโบสถและพระวิหารตลอดถึงกุฏิ ศาลา นับเป็นความรักความสามัคคีทั้งชาวบ้านและชาววัดอย่างแท้จริง หลังจากสร้างวัดทั้ง ๔ แห่งไปเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อแช่มแห่งวัดตาก้องศิษย์สำคัญของหลวงพ่อทาได้เล่าไว้ในประวัติดังนี้ 

“ หลวงพ่อทาพระอุปัชฌาย์ วัดพะเนียงแตก ต่อมาท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นที่พระครูโสอุดรมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงเมืองนครปฐม พระครูโสอุดรก็ดี หลวงพ่อทาก็ดี มีชาวบ้านญาติโยมเรียกอีกนามหนึ่งว่า“ หลวงพ่อเสือ ” หลวงพ่อทาเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่เคร่งครัดมาก มีคนรู้จักนับถือกว้างไกล แม้ที่เมืองสุพรรณบุรีที่พยายามเดินทางมากราบถึงวัดการเดินทางก็มิใช่ว่าจะสะดวกสบาย ลำบากมาก แต่เมื่อตั้งใจมาหาทุกคนจะปลอดภัยเสมอ” 

จากคำบอกเล่าไว้ในประวัติของหลวงพ่อแช่มแห่งวัดตาก้อง ท่านกล่าวนามหลวงพ่อทาว่า…. หลวงพ่อเสือ....ย่อมมีสาเหตุดังจะเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ฟังดังนี้

ในฐานะพระเถระผู้มีความสามารถในการปกครองท่านสามารถแสดงบทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น

๑. พวกเสือร้ายที่เที่ยวปล้นสะดมภ์

๒. พวกนักเลงโต นักเลงหัวไม้

๓. พวกขี้เหล้า พวกขี้ยา

พวกร้ายทั้งหมดนี้ล้วนมีความขยาดกลัวความเด็ดขาดของหลวงพ่อทามาก หลวงพ่อทาก็มีอำนาจในการปกครองโดยผ่านจากคณะสงฆ์สมัยก่อนมักมีกฎระเบียบที่เรียกว่า “อาญาวัด” คือให้อำนาจการปกครองแก่สมภารวัดโดยเด็ดขาดคำว่า  "อาญาวัด"แม้ในสมัยก่อนราว ๔๕-๕๐ ปีย้อนหลัง วัดวาในต่างจังหวัดมักนิยมจัดงานประจำปีกันเสมอๆ แต่ละปีหรือปีละหลายๆ  หนเป็นงานใหญ่โตมาก

เมื่อถึงวันงานผู้คนจะล้นหลามพากันมาเที่ยวงานดังกล่าว แต่ผู้คนที่มางานนั้นเป็นคนดีก็มีคนเลวร้ายก็มาก พวกนักเลงชอบวิวาทก็มาก พวกขี้เหล้าขี้ยาก็ไม่น้อย ผู้คนสมัยก่อนจะหาความสนุกสนานรื่นเริงได้ยาก วัดจึงเป็นศูนย์รวมทั้งให้ความรู้ในธรรมะ ให้ความรู้ประดับสติปัญญาแล้วยังต้องให้ความสนุกรื่นเริงประจำทุกปีอีกด้วย

วัดพะเนียงแตก ถือเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง เมื่อมีงาน ผู้คนก็หลั่งไหลมาทั่วทิศมาทางบกก็ได้ มาทางเรือก็เยอะเอาข้าวปลามาหุงหากินกันเลยทีเดียว ทีนี้พวกเกเรที่มีคู่อริอยู่แล้วก็ต้องมาเจอกันที่นี้อย่างแน่นอน เมื่อได้ร่ำสุราพอตึงๆ ก็เริ่มแสดงเกะกะระรานชาวบ้านที่มาเที่ยวงานนัยน์ตามองใครไม่เป็นมิตร

ชาวบ้านที่มาจากต่างถิ่นเพื่อมาทำบุญ เกิดความรำคาญใจพากันหลบหนี พวกนักเลงโตได้ใจ กลายเป็นงานอวดเก่งของคนพวกนี้

อาญาวัด

อำนาจสงฆ์หรืออาญาวัดจากการบอกเล่าของหลวงพ่อแช่มวัดตาก้องซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อทาได้บอกไว้ ดังนี้

“ พวกนักเลงโต ตำบลตาก้อง กับตำบลพะเนียงแตกมักจะยกพวกตีกันเสมอแต่ละคราวมันไม่ได้ฆ่ากันตายหรอก เขาตีกันด้วยไม้ อาจใช้มีดกันบ้าง ใครหนังเหนียวก็รอดไป ใครเปราะก็เลือดตกยางออกเสียเชิงชายอายขนาดทิ้งบางทิ้งตำบลที่ตนอยู่ไปเลยนะ

ที่วัดพะเนียงแตก มีงานประจำปีแต่ละคราวใหญ่โตมาก ผู้คนมาเที่ยวมาทำบุญกันเยอะ หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ทาท่านไม่ขอร้องกำนันและไม่ต้องรบกวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ งานท่านราบรื่นดี ผู้ดูแลรักษาการณ์ก็เป็นตัวของท่านพระอุปัชฌาย์ทาท่านเป็นผู้ตรวจเอง เป็นตำรวจเอง ท่านเดินตรวจด้วยไม้พลองมันวับเดินรอบวัด เมื่อมีเหตุการณ์พวกนักเลงเขาเกิดตีกัน ท่านก็ควงไม้พลองเข้าร่วมวงตะลุมบอนด้วย ท่านหวดซ้ายหวดขวาอย่างว่องไว ท่านตีดะไม่ถือว่าพวกไหนต่อพวกไหน ท่านตีแรงๆ ตีจริงๆ เพื่อให้พวกนักเลงเจ็บแล้วเข็ดหลาบ ตีจนหัวแตกหัวโน พวกนักเลงรู้ว่าใครร่วมวงด้วยก็ใจฝ่อหลบกันเป็นพัลวัน ก็เจอคนจริงเข้าแล้วใครจะหาญกล้า เล่นจนวงไพบูลย์แตกกระเจิงไป ทีนี้พวกร่ำสุราพอเมาได้ที่ก็เอะอะเกะกะกับชาวบ้านที่มาร่วมงาน ชาวบ้านพากันรำคาญใจ เพราะพวกนี้ไม่พูดเปล่ามือไม้มันไปด้วย หลวงพ่อทาเดินมาเห็นเข้าพอดี เข้าไปหวดด้วยไม้พลอง พวกขี้เมาหายเมาเป็นปลิดทิ้งเลยทีเดียว กลัวหลวงพ่อจนหายเมา ก็ท่านเอาจริงๆ ตีไม่ตีเปล่าจับตัวเอาทั้งพวกนักเลงโตแล้วก็พวกขี้เหล้านั้นมาผูกมัดล่ามโซ่ไว้กลางศาลา การลงโทษเช่นนี้ก็เพื่อให้เข็ดจำและเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี และพอหายเมาแล้วหลวงพ่อจึงปล่อยตัวไป”

ความจริงหลวงพระอุปัชฌาย์วัดพะเนียงแตก ท่านเป็นพระใจดี มีเมตตาเสมอหากจะมองทางด้านปฏิบัติต่อพวกนักเลงโตนักเลงเหล้า จะเข้าใจว่า “หลวงพ่อทาท่านดุ” ความจริงมิใช่อย่างนั้นจิตใจของท่านนับว่าประเสริฐเลิศด้วยปัญญา แต่ท่านต้องดุเพื่อแก้นิสัยของคนคนดื้อรั้นจำเป็นอยู่ดีที่จะต้องทำอะไรรุนแรงไปบ้างทั้งที่ฝืนใจ

ความเป็นพระเถระที่ทรงคุณธรรมสูงของหลวงพ่อทาแห่งวัดพะเนียงแตกจนได้รับการยกย่องถวายสมณศักดิ์เป็นพระครูโสอุดรก็เพราะ

๑. หลวงพ่อทา ท่านมีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ยืนอยู่แถวหน้าอันดับหนึ่งในจังหวัดนครปฐม มีคุณานุภาพมากมายเป็นที่ประจักษ์ในสมัยนั้น

๒. หลวงพ่อทา เป็นพระสำเร็จจิตขั้นอภิญญาและสมาบัติสูง มีปฏิปทาน่านิยมเลื่อมใสเป็นบุตรพระสมณโคดมโดยแท้

๓. หลวงพ่อทา ท่านมีความสามารถแก่กล้าในทางด้านพุทธาคม ไสยาศาสตร์ต่างๆ เป็นที่นิยมเลื่อมใส เป็นที่สักการบูชาของประชาชนใกล้-ไกล โดยทั่วไป

ความโด่งดังของท่าน กิติศัพท์หลวงพ่อทาได้ขจรไปไกล มีเจ้านายระดับสูงมีจิตเคารพในคุณธรรมของท่านมากในกาลต่อมาได้รับสมณศักดิ์ที่สำคัญถวายว่า “พระครูอุตตรการบดี”

จากการที่ท่านได้รับตำแหน่งสูงสุดของหลวงพ่อทา หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้องได้รวมประวัติไว้ ดังนี้

“ ในฐานะเจ้าคณะแขวงเมืองนครปฐมหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ทาได้เลื่อนสมณศักดิ์ก็ในสมัยนั้นมีการบูรณะพระปฐมเจดีย์ ขึ้นจำเป็นต้องมีพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์เป็นผู้รักษาพระปฐมเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งเป็นตำแหน่งแต่งตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) มีลำดับตำแหน่งคือ.....

๑. ทิศเหนือคือ พระครูอุตตรการบดี หรือ พระครูโสอุดร

๒. ทิศตะวันออก คือ พระครูบูรพาทิศรักษา หรือ พระครูปุริมานุรักษ์

๓. ทิศใต้ คือ พระครูทักษิณานุกิจ

๔. ทิศตะวันตก คือ พระครูปัจฉิมทิศบริหาร หรือ พระครูปาจิณทิศ

ในตำแหน่งดังกล่าวมานี้อุปมาดุจพรหมทั้ง ๔ เป็นผู้อภิบาลองค์พระปฐมเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตำแหน่งทั้ง ๔ นี้ มีการแต่งตั้งถวายพระเถระที่สำคัญๆ มาแต่ครั้งอดีตทั้งสิ้น....”

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม

วัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างเอาไว้มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น เหรียญรูปหล่อพระปิดตาและเครื่องรางชนิดต่าง ๆ 

พระปิดตาเป็นเนื้อโลหะเช่น พิมพ์ขมวดมวย (เนื้อเมฆพัด) พิมพ์เกลอเดียว พิมพ์โต๊ะกัง (เนื้อเมฆพัด) และพิมพ์สามเกลอ เป็นต้น

เหรียญหล่อเนื้อโลหะ มีด้วยกันหลายรุ่น ได้แก่ เหรียญหล่อรุ่นแรก รองมาเป็นรุ่นสอง

ติดต่อวัดพะเนียงแตก

สถานที่ตั้ง: ตั้งอยู่เลขที่ ๙๖ หมู่ที่ ๔ ตำบลมาบแค อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
เบอร์ติดต่อวัด: 083 685 4961 / 034 203 332
เบอร์ไวยาวัจกร: 081 704 3938
เบอร์แผนกวัตถุมงคล: 082 092 5552
วันและเวลาเปิดทำการ: เปิดทำการทุกวัน เวลา 06.30น. - 19.30น.

ส่งข้อความสำเร็จ

©2023 by Wat Phaniang Taek. Powered by Dryv Technology

bottom of page